อยากได้ผลผลิตดี ต้องพิถีพิถัน รู้จริงในสิ่งที่ทำ มั่นคงในสิ่งที่เชื่อ อดทน บ่มเพาะในวันนี้ เพื่ออนาคตจะไม่ต้องทำการตลาดอีกต่อไป
แค่เริ่มคิดจะปลูกแอปเปิ้ลเอง รับรองว่า 99.99% โบกมือลาไปแล้ว เพราะอะไร? ทุกคนอยากบริโภคของดีมีคุณภาพไม่ใช่หรือ? ทุกคนในระบบห่วงโซ่การผลิตเข้าใจเรื่องนี้ดี ตั้งแต่ผู้ผลิต คนขาย คนซื้อ คนกิน ถ้าเลือกได้เชื่อว่าทุกคนจะเลือกคุณภาพก่อนเสมอ เมื่อ “คุณภาพ” คือจุดหมายปลายทางที่ทุกคนชื่นชอบ แล้วอะไรเป็นตัวกำหนดคุณภาพ? ถ้าเป้าหมายในการทำกิจการใดๆคือ “คุณภาพ” เราจำเป็นต้องมีวิธีคิดต่อกระบวนการผลิตอย่างถูกต้อง
ยาทิสํ วปเต พีชํ อ่านว่า ยาทิสัง วะปะเต พีชัง
“บุคคลหว่านพืชเช่นใด”
ตาทิสํ ลภเต ผลํ อ่านว่า ตาทิสัง ละภะเต ผะลัง
“ย่อมได้ผลเช่นนั้น”
กลฺยาณการี กลฺยาณํ อ่านว่า กัลยาณะการี จะ กัลยาณัง
“ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี”
ปาปการี จ ปาปกํ. อ่านว่า ปาปะการี จะ ปาปะกัง
“ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว”
เริ่มที่การให้ความสำคัญกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่ทำแบบคนรู้จริง ไม่สำคัญว่าเราจะปลูกอะไร แอปเปิ้ล มังคุด ละมุด ลำใย มันสำคัญที่เราปลูกอย่างไรต่างหาก เราได้พยายามปลูกและส่งมอบของดีๆให้คนซื้อ คนกิน ด้วยความรักและอยากให้ผู้คนได้รับสิ่งดีๆ หรือไม่? ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทั้งสิ้น เหมือนเรากำลังต่อจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กนับร้อยชิ้น ใช้เวลาค่อยๆ ต่อมันวันละเล็กละน้อย จนสำเร็จเป็นภาพที่สวยงามอลังการ จากจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กที่แยกกันอยู่ มันเป็นได้เพียงแค่เศษวัสดุไร้ประโยชน์ด้วยซ้ำ แต่เมื่อเราลงมือทำอย่าต่อเนื่อง มันกลายเป็นสิ่งมีคุณค่า และเพิ่มมูลค่าได้อย่างไม่น่าเชื่อ เราเรียกกระบวนการนี้ว่า “การสร้างคุณค่า”
Value Creation # การสร้างคุณค่า พูดง่าย ลงมือทำง่ายกว่า?
ไม่ได้จะให้ความหวังแบบลมๆ แล้งๆ แต่ที่ ดีบุญ มันเป็นนิสัยของเราที่จะพูดเรื่องยากให้ดูง่ายเสมอ การตลาดสมัยใหม่ในยุค 5G จะต้องเน้นการสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริโภคก่อน นักการตลาดจะคุ้นเคยกับคำว่า “Value Creation” ซึ่งในภาคภาษาไทยหมายถึง “การสร้างคุณค่า” สรุปง่ายๆ คือ สินค้าหรือบริการของเรา มีคุณประโยชน์ต่อผู้คนอย่างไร แก้ปัญหาให้ผู้คนหรือเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ใช้ได้อย่างไร
ลองคิดเล่นๆ เริ่มต้นด้วยการกำหนดคุณลักษณะของแอปเปิ้ลที่เราต้องการ (Attributes # คุณลักษณะ) เช่น สวนของเรามีการปลูกต้นแอปเปิ้ลสลับกับต้นพลัม เพื่อให้เกิดการผสมเกสรข้ามสายพันธุ์ ทำให้มีผลผลิตอยู่ตลอดทุกฤดูกาล นอกจากนี้เรายังเลือกสายพันธุ์ที่ดีเหมาะสมกับพื้นที่ปลูก ทำให้แอปเปิ้ลของเราลูกใหญ่ ผิวบาง เนื้อแน่น หวาน กรอบ ฯลฯ แต่จะว่าไปแล้วคุณลักษณ์ดังกล่าว ก็ยังดูไม่เพียงพอที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราต่างจากแอปเปิ้ลของคนอื่น ดังนั้นควรมีแผนสอง…
การสร้างจุดเด่น (Features # จุดเด่น) เรามีอะไรเด่นกว่าคนอื่น? เช่น แอปเปิ้ลของเราปลูกแบบธรรมชาติ ใช้ผึ้งผสมเกสรตามธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ทำให้มีรสชาติหวาน มีวิตามินซีสูงกว่าระดับปกติ ยังๆไม่พอ เรายังต้องแปลจุดเด่นดังกล่าวให้เป็นประโยชน์ให้ได้ด้วย
คุณประโยชน์ของสินค้า (Benefits # ประโยชน์)วิตามินซีระดับสูงในแอ๊ปเปิ้ลของเรามีประโยชน์อะไรกับคนกิน แน่นอนว่าได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์แล้วว่า วิตามินซี ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันการอักเสบ ลดริ้วรอยแห่งวัย ลดอาการเลือดออกตามไรฟัน ช่วยทำให้ผนังของหลอดเลือดฝอยแข็งแรงมากขึ้น และที่สำคัญมีส่วนป้องกันโรคมะเร็ง
นี่แหละที่เรียกว่าคุณค่า (Value # คุณค่า) ซึ่งเป็นตอนจบของกระบวนคิด สิ่งที่เราผลิตให้อะไรแก่ผู้บริโภค? ที่จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสินค้าที่เรานำเสนอนั้นคุ้มค่ากับเงิน คุ้มกับเวลา และความพยายามที่ต้องเสียไป ที่สำคัญเหนืออื่นใด คือการเป็น “แอปเปิ้ล” ที่มีคุณค่าคุ้มกับต้นทุนชีวิตของผู้บริโภค ถ้าเราสามารถทำได้ถึงจุดนั้น มั่นใจได้เลยว่า แอปเปิ้ลของเราจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในตลาดการแข่งขัน